เปิดตำนาน 'ทองคำ' เมืองไทย ที่มาแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ

Last updated: 15 มิ.ย. 2559  |  2500 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปิดตำนาน




             

ขณะนี้กระแส “ตื่นทอง” และ “แห่ขุดทอง” ของชาวบ้านบ่อนางชิง หมู่ 4 ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ดูเหมือนจะกลบสถานการณ์ร้อน ๆ ในบ้านเมืองไปได้ในระดับหนึ่ง 

หลังจากมีการเล่าลือว่ามีคนโชคดีไปขุดทองคำขายได้เงิน 4 ล้านบาทเศษ กลายเป็นเศรษฐีใหม่ในหมู่บ้านบ่อนางชิง จุดกระแสตื่นตัวและอยากรวยให้เพื่อนบ้าน คนคุ้นเคย แห่แหนไปขุดหาทองกันจ้าละหวั่นในที่ดินจำนวน 30 ไร่เศษของ นายอัมพร ซังชมแก้ว ซึ่งอนุญาตให้ขุดหาทองกันได้ แต่ต้อง จ่ายค่าเช่า 300-500 บาทต่อ 1 ล็อก (ขนาดความยาว 2 เมตร กว้าง 4 เมตร) และในที่ดินเนื้อที่กว่า 10 ไร่อยู่ติดกันของ จ.ส.อ.บุญลือ ชุยอิว รายหลังไม่เก็บค่าเช่า แต่รับซื้อทองที่ขุดได้กรัมละ 950 บาท 

นายสุบันท์ เซียมกิ่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว บอกว่า นับเป็นเรื่องโชคดีของชาวบ้าน คาดว่าพื้นที่ทั่วหมู่บ้านประมาณ 18,000 ไร่ มีแร่ทองคำและทุกตารางวามีแร่ทองคำน้ำหนักเกินกว่า 1 กิโลกรัมทั้งนั้น ที่ผ่านมามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจยืนยันว่า หมู่บ้านบ่อนางชิงเคยเป็นเหมืองแร่ทองคำของคนโบราณ 

ขณะที่ นายศานิตย์ นาคสุขศรี ผวจ.สระแก้ว เองก็ยินดีสนับสนุน ถือว่าเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ แต่กรรมวิธีต้องใช้แบบพื้นบ้าน ห้ามใช้เครื่องจักรกลหรือทำลักษณะเป็นเหมืองเด็ดขาด ที่สำคัญห้ามบุกรุกเขตป่าสงวนหรือสร้างความเสียหายให้ธรรมชาติ 

นับเป็นเรื่องดี ๆ ของชาวบ้าน ผู้โชคดีไปโดยปริยาย ข่าวว่าถอยรถใหม่ป้ายแดงเป็นว่าเล่นเลยทีเดียว เอาเป็นว่าใครร่ำรวยก็ขออวยพร ใครขุดสู้คนอื่นไม่ได้ก็อย่าท้อแท้ วันหน้าฟ้าใหม่ยังมีสำหรับคนที่ขยันหมั่นเพียรเสมอ และไหน ๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับทองก็ขอเสริมข้อมูลที่น่าสนใจให้ทราบกันดังต่อไปนี้

“ทองคำ” เป็นแร่ธาตุโลหะทรานซิชั่น สีเหลืองทองมันวาวเนื้ออ่อนนุ่ม สามารถยืดหยุ่นและตีเป็นแผ่นได้ ทองคำไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีส่วนใหญ่ แวดวงการเงินระหว่างประเทศใช้ทองคำเป็นทุนสำรองทางการเงิน นอกจากนี้ทองคำยังใช้ประโยชน์เป็นเครื่องประดับแสดงฐานะ ใช้ในงานทันตกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคุณสมบัติของทองคำแวววาวและไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เมื่อสัมผัสถูกอากาศสีของทองก็จะไม่หมองและไม่เกิดสนิม ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้ทองคำกลายเป็น “โลหะที่มีค่ามากที่สุด” ในปัจจุบัน เมื่อเทียบน้ำหนักและปริมาณกับแร่ธาตุโลหะชนิดอื่น ๆ ที่มีอยู่ใน โลกใบนี้

เรื่องเกี่ยวกับทองคำถูกเล่าขาน กลายเป็นตำนานมากมาย ในต่างประเทศเองก็เคยนำเรื่องราว “ขุมทองแม็คเคน น่า” และ “อินเดียนน่า โจนส์” มาสร้างเป็นภาพยนตร์พันล้าน โกยเงินมาแล้ว ส่วนในเมืองไทยมักปรากฏเป็นข่าวตลอดว่าพบทองคำในหลายพื้นที่ ฮือฮากันมากมายคงไม่พ้นกรณี “ขุมทองโกโบริ” ที่ จ.กาญจนบุรี สร้างสีสันให้สังคมไทยมาหลายครั้งหลายคราว

จากข้อมูลทางธรณีวิทยา มีการยืนยันชัดเจนว่าแหล่งสายแร่ทองคำหรือแหล่งแร่ทองคำในเมืองไทยเรานั้นมีมากและมีหลายจุด บางแห่งสำรวจไปแล้วปริมาณสายแร่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนก็ต้องยกเลิกไป แต่บางแห่งคุ้มค่าต่อการลงทุน จึงมีการขอสัมปทานบัตรทำเหมืองแร่กันหลายราย

ข้อมูลจากสำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าประเทศไทยมีแหล่งทองคำในปริมาณมากอย่าง น้อย 10 แหล่ง โดยอยู่ทางภาคเหนือมากที่สุด 8 แหล่ง และภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคละ 1 แหล่ง ในเขตภาคเหนือ แหล่งแร่ทองคำที่สำคัญมีอยู่ที่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.สุโขทัย จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.เชียงราย 

โดยเฉพาะที่ จ.พิจิตร และ จ.ลำปาง แร่ทองมีมหาศาลเฉลี่ยจังหวัดละ 2 แหล่งเลยทีเดียว ขณะที่ภาคอีสานมีอยู่ที่ จ.เลย ภาคใต้ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากทั้ง 10 แหล่งนี้ แหล่งที่ถูกสำรวจและ พัฒนาจนถึงขั้นเป็นอุตสาหกรรมเหมืองผลิตทองคำแล้วมี 2 จุด คือ “แหล่ง แร่ทองคำชาตรี” ที่ จ.พิจิตร โดยมี บริษัท อัครา ไมนิ่ง ได้สัมปทานบัตร และอีกแหล่งคือ “แหล่งภูทับฟ้า” บริเวณ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย มีบริษัทเอกชนชื่อ ทุ่งคำ ได้สัมปทานบัตรทำเหมืองทองคำ

สำหรับแหล่งทองคำชาตรีนั้น ได้สัมปทานบัตรทำเหมืองมาตั้งแต่ปี 2544 ครอบคลุมพื้นที่ 1,200 ไร่ หลังการสำรวจพบแหล่งแร่ทองคำ ซึ่งสายแร่แทรกอยู่ในหินภูเขาไฟ มีปริมาณสินแร่ประมาณ 14.5 ล้านตัน และมีปริมาณทองคำเฉลี่ย 2.6 กรัม และเงิน 13.3 กรัม ต่อสินแร่หนัก 1 ตัน ปริมาณสินแร่ระดับนี้ เมื่อสกัดออกมาจนเป็นทองคำก็จะมีปริมาณ 32 ตัน หรือหากเทียบน้ำหนักเป็นกิโลกรัม ปริมาณทองคำทั้งหมดที่ได้ราว 32,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท 

ส่วนแหล่งภูทับฟ้า สำรวจมาตั้งแต่ปี 2534 พบปริมาณเนื้อหินปนแร่ทองคำประมาณ 1 ล้านตัน เมื่อสกัดสินแร่ออกมาต่อน้ำหนักหิน 1 ตัน จะพบแร่ทองคำประมาณ 5 กรัม รวมน้ำหนักทองคำทั้งหมดที่จะสกัดได้ก็จะประมาณ 5 ตัน หรือ 5,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านบาทขึ้นไป 

นอกจากนี้แหล่งสายแร่ทองคำ ซึ่งถูกกล่าวขานเป็นตำนานก็มีที่ “แหล่งแร่ทองคำบ้านป่าร่อน” หรือที่รู้จักกันในชื่อแหล่งบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์, “แหล่งบ่อทอง” อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และ “แหล่งทองคำโต๊ะโมะ” จ.นราธิวาส และอีกแหล่งที่มีการดำเนินการจนพบภายหลังว่ามีสายแร่ทองคำอยู่จริง ๆ และเกิดเป็นกระแส “ตื่นทอง” ในบรรดาชาวบ้านย่านใกล้เคียง ตกเป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ยุคหนึ่งคือ “แหล่งเขาพนมพา” ที่ ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร ที่ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตรเป็นผู้ รับดำเนินการ โดยกรมทรัพยากรธรณีได้ทำการสำรวจในชั้นเปลือกดินหรือไม่ลึกมากนักจากผิวหน้าดิน พบว่ามีทองคำประมาณ 360 กิโลกรัม มูลค่ามากกว่า 150 ล้านบาท!!

อย่างไรก็ตามย้อนดูสถิติปริมาณการผลิตทองคำที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่ามีการทำเหมืองทองอย่างจริงจังในไทยตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยปีแรกผลิตทองคำไปแล้วประมาณ 0.31 ตัน มูลค่า 124.69 ล้านบาท ปี 2545 ผลิตได้ 4.95 ตัน มูลค่า 2,123.12 ล้านบาท และปี 2546 ผลิตได้ 4.43 ล้านตัน มูลค่า 2,117 ล้านบาท รวมแล้ว 9.69 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,364.81 ล้านบาท ถือว่าปริมาณยังไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบแหล่งแร่ทองคำอีกหลายแห่งในประเทศไทยที่ค้นพบแล้วและยังค้นหาอยู่ คาดว่าคงมีซุกซ่อนอีกมหาศาล ไม่เช่นนั้นในอดีตนักเดินเรือคงไม่เรียกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า“สุวรรณภูมิ” เป็นแน่.

Powered by MakeWebEasy.com